“มอนติ” นั่งเก้าอี้นายกฯ อิตาลีคนใหม่ ชี้กรุงโรมต้องไม่เป็น “จุดอ่อน” ยูโรโซน
|
||||
|
||
เอเอฟพี – มาริโอ มอนติ อดีตกรรมาธิการยุโรป ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี วานนี้ (13) เพื่อรับหน้าที่นำพาประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยูโรโซนฝ่าฟันวิกฤตหนี้สิน แทนที่อดีตนายกฯ ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ที่เพิ่งลาออกไป
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส วัย 68 ปี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “อิตาลีจะต้องเป็นส่วนที่เข้มแข็งและแข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับยูโรโซนซึ่งเรา มีส่วนร่วมก่อตั้งขึ้น มิใช่เป็นจุดอ่อน และเราสมควรจะเป็นตัวละครเอกด้วย”
มอนติ กล่าวหลังได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี จิออร์จิโอ นาโปลิตาโน ว่า จะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี “เพื่อนำประเทศให้ผ่านพ้นสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ”
มอนติ ได้รับเลือกเป็นผู้นำคนใหม่ของอิตาลี หลังมีการหารือระหว่างขั้วการเมืองต่างๆ นานหลายชั่วโมง โดยอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการเผยโฉมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านการโหวตในสภาอีกครั้งเพื่อรับรองอำนาจของรัฐบาลอย่างเป็นทาง การ
มอนติ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมาธิการยุโรป และเคยชนะคดีฟ้องร้อง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง ไมโครซอฟท์ และเจเนอรัล อิเล็กทริก มาแล้ว ได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกขั้วการเมืองในอิตาลี ขณะที่ผู้นำยุโรปก็ขานรับการแต่งตั้งเขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แห่งกรุงโรม
นาโปลิตาโน พยายามเริ่มจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้เร็วที่สุดก่อนตลาดหลักทรัพย์เปิดในเช้า วันนี้(14) ซึ่งจะมีการประมูลพันธบัตรอิตาลีเป็นครั้งแรก หลังจาก แบร์ลุสโกนี ลาออกท่ามกลางปัญหาหนี้สินของประเทศ
แบร์ลุสโกนี วัย 75 ปี ซึ่งตัดสินใจทิ้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันเสาร์ (12) ถูกประชาชนในกรุงโรมโห่ฮาขับไล่และเฉลิมฉลองการจากไปของเขาอย่างครึกครื้น แต่เจ้าตัวยังยืนยันไม่ทิ้งสังเวียนการเมือง และบอกว่าลาออก “เพื่อแสดงความรับผิดชอบ” เท่านั้น
“ผมยอมลาออกเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการเงินของอิตาลีสูญเสียความเชื่อ มั่นจากต่างชาติ ผมลาออกทั้งที่ได้รับความไว้วางใจจากสภา เรายังครองเสียงส่วนใหญ่อยู่” แบร์ลุสโกนี อ้างถึงพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008
แม้ แบร์ลุสโกนี จะไม่ได้ถูกลงมติไม่ไว้วางใจอย่างเป็นทางการ ทว่าเขาก็เสียเสียงส่วนใหญ่ในการโหวตปฏิรูปงบประมาณเมื่อวันอังคาร (8) ที่ผ่านมา ซึ่งกดดันให้เขาต้องยอมลาออกในที่สุด
แบร์ลุสโกนี ยังร่างจดหมายถึงพรรคอนุรักษนิยมพรรคหนึ่ง วานนี้ (13) โดยบอกว่าต้องการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง และประณามสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลที่เอาใจออกห่างว่าเป็นพวก “หักหลังและฉวยโอกาส”
ทั้งนี้ แบร์ลุสโกนี ยังดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคพีเพิลออฟฟรีดอม และรัฐบาลของเขาก็ยังคงอำนาจรักษาการจนกว่าการจัดตั้งคณะมนตรีชุดใหม่จะ เสร็จสมบูรณ์