ร้อยเอ็ดจัดงานสืบสานประเพณีโบราณ “กวนข้าวทิพย์” ตักบาตรพระพุทธเจ้า ในวันออกพรรษา………..
การทำบุญออกพรรษา ถือเป็นงานบุญประเพณีที่ชาวไทยโดยเฉพาะชาวบ้านในต่างจังหวัดให้ความสำคัญไม่แพ้งานบุญประเพณีอื่น นั่นคือการทำบุญ “กวนข้าวทิพย์” ในวันออกพรรษา ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นการเตรียมอาหารไว้ตักบาตรพระสงฆ์ในวันแรกของการออกพรรษา เรียกว่า “ตักบาตรเทโว” เชื่อกันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดสัตว์ในโลกมนุษย์ ซึ่งหากผู้ใดได้ตักบาตรพระสงฆ์ด้วย “ข้าวทิพย์” ในวันออกพรรษาแล้ว จะได้รับอานิสสงฆ์สูงสุด มีความสุขความเจริญและมีอายุยืนยาวยิ่งขึ้น
นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ตามประวัติศาสตร์ ประเพณีการกวนข้าวทิพย์ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา โดยเริ่มจัดให้เป็นพิธีใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรง โปรดให้มีพิธีการกวนข้าวทิพย์อย่างเป็นทางการ โดยรับสั่งให้พระเจ้าลูกยาเธอฝ่ายในเป็นผู้กวนข้าวทิพย์ทั้งสิ้น และได้ถือเป็นราชพิธีสืบต่อมา โดยจะประกอบพิธีในเดือน 10 ระหว่างวันแรม 13 – 15 ค่ำ ในภาคกลางจะเรียกว่า “ข้าวกระยาสารท” ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า “ข้าวทิพย์”
นายประดิษฐ์ โอวาทกานนท์ รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า งานบุญประเพณี “กวนข้าวทิพย์” ของ ชาวร้อยเอ็ดเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นพิธีการที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยในวันงาน (ก่อนวันออกพรรษา 1 วัน) ชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์เพื่อมายังมณฑลพิธีเพื่อเจริญพระพุทธมนต์และสวดคาถา ประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ หลังจากนั้นจึงให้หญิงสาวพรมจารีย์ในชุดนุ่งขาวห่มขาวที่ผ่านการเจิมหน้าผาก โดยพราหมณ์ เป็นผู้ถือไม้พายที่ผ่านเจิมด้วยยันต์อุณาโลมจากพราหมณ์เช่นกัน ทำการกวนข้าวทิพย์ในกระทะใบบัวเป็นไม้แรก (คนแรก) โดยเชื่อกันว่าหญิงสาวพรมจารีย์คือหญิงสาวที่บริสุทธิ์ ส่วน การกวนข้าวทิพย์ก็คือการทำบุญที่จะได้อานิสสงฆ์สูงสุด ดังนั้น การที่จะได้รับอานิสสงฆ์สูงสุด ผู้ประกอบพิธีก็ต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย หลังจากนั้นประชาชนที่มาร่วมในพิธีจะร่วมกันนำอาหารธัญญาพืชที่เป็นสิริมงคลต่าง ๆ อาทิเช่น ถั่ว, งา, สาคู , ข้าวโพด, ข้าวฟ่าง, ข้าวเม่า, มันเทศ, กระจับ, ข้าวสาร, ลูกบัว,เมล็ดก่ำ, น้ำนมโค, น้ำนมผึ้ง, น้ำอ้อย, มะพร้าวอ่อน, มะพร้าวแก่, ชะเอม เป็นต้น นำ มารวมกันใส่กระทะใบบัวใหญ่ ประกอบพิธีกรรมทางสงฆ์ แล้วจึงสลับเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยกันกวนให้สุก ซึ่งบางกระทะต้องกินเวลานานไปจนถึงดึกดื่นค่อนคืน แต่ชาวบ้านก็มิได้ย่อท้อ โดยถือว่ายิ่งจะได้บุญมากยิ่งขึ้น
หลังจากกวนข้าวทิพย์จนสุกดีแล้ว ก็จะนำไปตักบาตรพระสงฆ์ในเช้าวันต่อมา ซึ่งจะเป็นวันออกพรรษาพอดี เรียกกันว่า “ตักบาตรเทโว” โดยเชื่อกันว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่พระองค์ท่านเสด็จจำพรรษาอยู่เป็นเวลา 3 เดือน พุทธ ศาสนิกชนก็จะร่วมกันนำข้าวทิพย์ใส่ในบาตรของพระสงฆ์ เพื่อให้พระพุทธเจ้าได้ฉันเป็นภัตตาหารมื้อแรกในวันออกพรรษา และจะนำข้าวทิพย์ที่เหลือจากการตักบาตรไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้องของตนได้รับ ประทานกันอย่างทั่วถึง ซึ่งเชื่อกันว่า หากผู้ใดได้กินข้าวทิพย์ที่เหลือจากการตักบาตรเทโวแล้ว จะมีอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และมีความสุขความเจริญตลอดอายุขัยของผู้นั้น